เบียร์คราฟ

คราฟต์เบียร์จะมีวันถูกกฎหมายหรือไม่

สำหรับคราฟต์เบียร์ไทย มีการประมาณกันว่ามีอยู่ 60-70 ยี่ห้อในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่ผลิตขายกันเองแบบไม่เปิดเผย เพราะผิดกฎหมาย และแบรนด์ที่วางขายในร้านค้าหรือร้านอาหารได้ ก็ถูกผลิตในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น และบางประเทศในยุโรป

กฎหมายเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่มีทางแจ้งเกิดในประเทศแน่นอน

2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ฉบับที่.. พ.ศ… เพื่อขอแก้ไข พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ซึ่ง เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ เพื่อปลดล็อกให้ประชาชนสามารถผลิตสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ได้ โดยเปรียบเทียบด้วยการยกมูลค่าตลาดสุราในประเทศไทยเทียบกับประเทศญี่ปุ่น

“ผมสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ด้วยเหตุผลง่ายๆ ไทยกับญี่ปุ่นมีตลาดมูลค่าสุราเท่ากัน 2 แสนล้านกับ 2 แสนล้าน ทั้งประเทศไทยสุรามี 10 ยี่ห้อ ญี่ปุ่นมี 5 หมื่นยี่ห้อ ขนาดเท่ากัน ประเทศหนึ่งมูมมามกินกันแค่ 10 คน อีกประเทศหนึ่งกระจาย กินกัน 5 หมื่นคน ถ้าเพื่อนสมาชิกหรือประชาชนฟังอยู่แล้วไม่รู้สึกตงิดกับตัวเลขนี้ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว”

“ตลาด 2 ประเทศ 2 แสนล้าน ใหญ่มหาศาลเท่ากัน ประเทศหนึ่งมี 10 ยี่ห้อ อีกประเทศหนึ่งมี 5 หมื่นยี่ห้อ ประเทศที่มี 5 หมื่นยี่ห้อนั้นส่งออก 93% ข้อเท็จจริงมันโกหกกันไม่ได้ สถิติโกหกกันไม่ได้ เขาทำเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรของเขา นี่คือตลกร้ายของประเทศไทย”

แต่น่าเสียดายที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส.ส.ได้มีมติให้รัฐบาลเก็บไปดองเค็ม คือให้คณะรัฐมนตรีนำไปศึกษาต่อภายใน 60 วัน

ปัจจุบัน ในประเทศเยอรมนีมีบริษัทผู้ผลิตเบียร์ประมาณ 1,300 แห่ง สหรัฐอเมริกา 1,400 แห่ง เบลเยี่ยม 200 แห่ง ขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 2 ตระกูลแทบจะผูกขาดการผลิตเบียร์ในประเทศ

ลองคิดดู หากมีการปลดล็อก พ.ร.บ. สุราแล้ว ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตเบียร์อิสระหรือคราฟต์เบียร์ที่จะได้ประโยชน์ แต่บรรดาเกษตรกร ผู้ปลูกผลไม้ ดอกไม้ พืชผลทางการเกษตรนานาชนิดทั่วประเทศ สามารถสร้างรายได้จากการแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่น และยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมและดื่มเหล้า-เบียร์ท้องถิ่นได้ ไม่ต่างจากบรรดาเหล้า ไวน์ สาเก เบียร์พื้นถิ่นชื่อดังในชนบทของฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี ฯลฯ

การพังทลายการผูกขาดเหล้า-เบียร์ คือการพังทลายความเหลื่อมล้ำ และเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเท่าเทียมกัน

ใครมีฝีมือ ใครมีความคิดสร้างสรรค์ ก็สามารถมีโอกาสเกิดในสนามนี้ได้ โดยใช้ทุนไม่มากนัก

รัฐบาลบอกว่าสนับสนุนรายย่อยหรือ SMEs แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่เปิดโอกาส โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญ

แต่ในประเทศไทยที่กลุ่มทุนผูกขาดมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลแทบทุกยุคสมัย โอกาสที่ พ.ร.บ.ปลดล็อกสุราฉบับนี้จะคลอดออกมา ไม่ง่ายเลย ด้วยผลประโยชน์อันมหาศาล ขณะที่นับวันการเจริญเติบโตของคราฟต์เบียร์ทั่วโลกมีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด

จากรายงานของ The Global Craft Beer Market พบว่าตั้งแต่ ค.ศ. 2005 คราฟต์เบียร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นอุตสาหกรรมด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่โตเร็วที่สุดเกือบ 300% โดยมีผู้ผลิตอิสระหลายพันราย จนสร้างความหวั่นไหวให้กับผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ เพราะบรรดาคอเบียร์หันมาดื่มคราฟต์เบียร์กันมากขึ้น

จากข้อมูลของ Brewers Associations แห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ในปี 2018 ยอดขายเบียร์ดังในประเทศสหรัฐตกลงไป 1% แต่คราต์เบียร์กลับเพิ่มขึ้น 3.9% หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของยอดขายเบียร์ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากว่า 27,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังสามารถสร้างงานได้มากกว่า 5 แสนตำแหน่ง ขณะที่ตลาดในยุโรปก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 13%

ล่าสุด ‘ศิวิไลซ์’ คราฟต์เบียร์ไทยจากเครือมหานครได้สร้างชื่อเสียงระดับโลก หลังจากเพิ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวที ‘World Beer Awards 2020’ แต่ต้องไปผลิตในประเทศเวียดนาม

ตราบใดที่ทุนผูกขาดรายใหญ่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย เกื้อหนุน อุ้มชู ผลประโยชน์ต่างตอบแทนมาตลอด โอกาสในการปลดล็อกเพื่อความเท่าเทียมกันในการแข่งขันการผลิตเบียร์และสุราทุกชนิด ดูจะเลือนรางไม่น้อย

จะเป็นไปได้หรือที่มูลค่าน้ำเมา 2 แสนกว่าล้านบาท จะกระจายไปสู่รายย่อยทั่วประเทศ ในประเทศที่ทุนผูกขาดกับผู้มีอำนาจคือเครือข่ายเดียวกัน

สุราในชุมชน ผลิตได้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเครื่องจักรและแรงงาน

ตามกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้การผลิตสุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ หรือสุรากลั่นชุมชนต้องใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่าเจ็ดคน หรือถ้าใช้ทั้งคู่เครื่องจักรต้องมีกำลังรวมต่ำกว่าห้าแรงม้าและคนงานต้องน้อยกว่าเจ็ดคน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจึงจะช่วยกำจัดข้อกำหนดในส่วนนี้ออกไป ช่วยเหลือวงการสุราพื้นบ้าน สุราชุมชนของไทย

อนาคตวงการคราฟต์เบียร์ในมุมมองของเว็บสุราไทย

ในเมื่อเราวิเคราะห์แล้วว่า ไม่มีทางที่กระทรวงการคลังจะอนุญาตให้คราฟต์บริวเวอรี่ขนาดเล็กๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย เราจึงจะต้องยอมรับสภาพว่าเราเป็นวงการเบียร์ใต้ดิน

การจัดกิจกรรมใดๆ ของกลุ่มเรา ควรจะมีความระมัดระวังเนื่องจากในกิจกรรมเพียงกิจกรรมเดียว เช่นงานแสดงเบียร์ที่โชวายเมื่อ 23 พ.ค. 58 จะมีการกระทำผิดกฎหมายถึง 2 พระราชบัญญัติ คือ พรบ. สุรา พ.ศ. 2493 และ พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมอย่างน้อย 4 กระทง ได้แก่ การทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 5 พรบ. สุรา) การจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 17 พรบ. สุรา) การแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างเพื่อจูงใจให้บริโภค (มาตรา 30 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (มาตรา 32 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)

ดังนั้นอนาคตวงการคราฟต์เบียร์ จึงควรเป็นวงการที่จำหน่ายกันอยู่ในแวดวงที่รู้จัก จัดกิจกรรมเป็นการส่วนตัว ไม่ควรออกตัวให้เอิกเกริก เน้นการสร้างมิตรภาพผู้ที่ชื่นชอบในการทำเบียร์เป็นงานอดิเรก แจกจ่ายให้ดื่มกันเฉพาะเพื่อนฝูง หรือทำเพื่อดื่มเองที่บ้าน เกิดความภาคภูมิใจเช่นเดียวกับที่พ่อบ้านไปจ่ายตลาดมาทำอาหารให้ครอบครัวรับประทานในวันหยุด สามารถปรุงอาหารได้ตามใจปรารถนา และสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนฝูง

แน่นอน ความหอมหวานของชื่อเสียงและคำสรรเสริญถึงฝีมือต้มเบียร์จากคู่แข่งหรือแฟนคลับย่อมเป็นสิ่งเสพติดที่คนทำเบียร์ถวิลหา แต่อย่าแลกมาด้วยคุกตารางหรือค่าปรับหลายแสนบาทเลย

การใช้ วัตถุดิบดั้งเดิมหรือวัตถุดิบแปลกใหม่ถือได้ว่าเป็น ลักษณะเด่นของคราฟต์เบียร์โดยผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคคราฟต์เบียร์มักมองคราฟต์เบียร์เป็นผลงานศิลปะประเภทหนึ่งที่ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตผ่านสี กลิ่น และรสสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากท่านใดสนใจเบียร์คราฟต์ไทย แนะนำให้อ่านบทความ 10 เบียร์คราฟต์ไทย แท้ไม่แพ้ชาติใด

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://surathai.wordpress.com

https://www.the101.world

https://www.thansettakij.com

https://ilaw.or.th

https://www.brandthink.m